รายละเอียดบนแก้มยาง
บางอย่างรู้กันผิดๆ บางอย่างยังไม่รู้
อย่าเพิ่งคิดว่าบทความนี้เป็นเรื่องเก่าๆ ที่รู้แล้ว เพราะบางอย่างก็รู้มาผิดๆ และอีกหลายอย่างอาจยังไม่รู้
ยางเส้นนี้กว้างเท่าไร ? 185 ใช่ความกว้างของหน้ายางจริงไหม ? เมื่อไรถึงเรียกว่าดอกหมด ? เดาเอาหรือมีตัวบอก ? ผลิตเมื่อไร เก่าเก็บหรือไม่ ? ถามที่ร้านก็ไม่มีใครบอก !

การเลือกซื้อยางรถยนต์มิได้สำคัญแค่ยี่ห้อ, รุ่น, ขนาด และราคาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องสนใจ และมักปรากฏอยู่บนแก้มยาง
ยางรถยนต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคู่มือประกอบการใช้งานแถมมาให้แบบตัวรถยนต์ โดยอาจมีรายละเอียดอยู่บนห่อบ้าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับบนแก้มยาง ที่มีเกือบทุกอย่างที่ควรทราบเกี่ยวกับยางเส้นนั้น พอจะเอายางมาใส่กับกระทะล้อก็แกะห่อทิ้งไป

รายละเอียดบนแก้มยางมีมากมายจนลายตา และไม่ได้สำคัญแค่ขนาด ความเร็วสูงสุด และน้ำหนักบรรทุกที่ยางเส้นนั้นรับได้เท่านั้น ยังมีรายละเอียดอื่นที่น่าสนใจอีกด้วย แต่ก็มิได้สำคัญไปทุกตัวเลขทุกตัวอักษร จึงควรเลือกอ่านและเลือกทำความเข้าใจ

บอกขนาดยาง, ตัวเลขบอกสัปดาห์และปีที่ผลิต และขวาสุดเป็นหมึกปั๊ม ผลิตเดือน 9 ปี 2543

ขนาด
รหัสบอกขนาด เช่น 195/60R15 87V

195 คือ ความกว้างของยาง ไม่ใช่ความกว้างของหน้ายางตามที่เข้าใจกัน ! (หน่วยเป็นมิลลิเมตร)

60 คือ ซีรีส์ หรือความสูงของแก้มยางทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เห็นเมื่อใส่กับกระทะล้อแล้ว แต่รวมขอบด้านในที่แนบกับขอบกระทะล้ออยู่ด้วย เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จากความกว้างของยาง หรือตัวเลขกลุ่มแรก (ซีรีส์ระบุเป็นเปอร์เซนต์ ไม่ใช่มิลลิเมตร)

R คือ ตัวย่อประเภทของยาง R-RADIAL ยางเสริมใยเหล็ก


ยางรุ่นนี้กว้าง 185 มิลลิเมตร แต่มีหน้าสัมผัสพื้น 160 มิลลิเมตร

ยางรุ่นนี้กว้าง 195 มิลลิเมตร แต่มีหน้าสัมผัสพื้น 175 มิลลิเมตร

ยางรุ่นนี้กว้าง 175 มิลลิเมตร แต่มีหน้าสัมผัสพื้น 140 มิลลิเมตร

ยางขนาด 185 ซีรีส์ 65 มีแก้มยางสูง 120.25 มิลลิเมตร โดยวัดจากขอบของหน้ายางถึงขอบในสุด

ยางขนาด 195 ซีรีส์ 60 มีแก้มยางสูง 117 มิลลิเมตร โดยวัดจากหน้ายางถึงขอบในสุด

กระทะล้อขนาด 13 นิ้ว ไม่ได้วัดถึงขอบนอก แต่วัดถึงแค่จุดในสุดที่ยางแนบกับขอบกระทะ

15 คือ เส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อ (หน่วยเป็นนิ้ว) ซึ่งต้องพอดีกับยาง (ส่วนความกว้างนั้นพอจะยืดหยุ่นกันได้)

87 คือ รหัสการรับน้ำหนัก ต้องดูในตารางเปรียบเทียบ เดาไม่ได้ มีหน่วยเป็นกิโลกรัม

V คือ ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรองรับได้ ต้องดูในตารางเปรียบเทียบ เดาไม่ได้ พบอักษร S T U H V Z R บ่อย มีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง


ตัวเลข 99 ต่อท้ายขนาดยาง บอกการรับน้ำหนักของยางแต่ละเส้น และตัวอักษรใช้บอกความเร็วสูงสุดที่ยางรับได้ ต้องเทียบจากตางราง และจะเห็นว่ามีรายละเอียดบอกอยู่มากมายจนลายตา

195 จากตัวอย่าง ไม่ใช่ความกว้างของหน้ายาง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวเลขความกว้างของยาง (ในตัวอย่างนี้ คือ 195) ซึ่งเป็นตัวปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นความกว้างของหน้ายาง ที่สัมผัสพื้นระหว่างซ้ายสุด-ขวาสุด ซึ่งในหลักการจริงนั้น ไม่ใช่ !

เพราะตัวเลขนั้นเป็นความกว้างของยางในส่วนที่กว้างที่สุด ระหว่างด้านขวา-ซ้าย ซึ่งอยู่บริเวณช่วงป่องสุดของแก้มยาง เมื่อยางเส้นนั้นถูกนำไปใส่ในกระทะล้อที่มีความกว้างเหมาะสม และสูบลมแล้ว

ความกว้างของยางที่ระบุไว้ วัดจากบริเวณจุดที่ป่องที่สุดของแก้มยาง (รวมตัวอักษรตัวเลขนูนๆ ในจุดที่วัดด้วย-ถ้ามี) ไม่ใช่บริเวณหน้ายางที่สัมผัสพื้น ส่วนหน่วยความกว้างเป็นมิลลิเมตรนั้นถูกต้องแล้ว

อย่าสับสนระหว่างความกว้างของยาง กับความกว้างของหน้ายาง !
โดยเฉพาะยางสำหรับรถยนต์ทั่วไป ตัวเลขที่ระบุบนแก้มยาง คือ ความกว้างของยาง ซึ่งมักมีหน้ายางที่สัมผัสพื้นจริงๆ น้อยกว่าตัวเลขที่ระบุไว้ ประมาณ 15-35 มิลลิเมตร แตกต่างกันในยางแต่ละรุ่นและยี่ห้อ (สามารถทดลองวัดได้ด้วยไม้บรรทัด) จึงมีส่วนทำให้ยางขนาดความกว้างดียวกัน มีประสิทธิภาพการเกาะถนนต่างกัน เพราะตัวความกว้างของหน้ายางจริงๆ แตกต่างกัน

จากการทดลองวัดจริง พบว่ายางขนาดความกว้างเดียวกัน (ตามที่ระบุไว้) ในยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่นกัน มีความกว้างของหน้ายางต่างกันถึง 5-10 มิลลิเมตร หรือในยางต่างขนาดกัน-ต่างยี่ห้อกัน เมื่อลองวัดดูแล้วกลับพบว่า ยางที่ระบุเลขความกว้างไว้ 195 มิลลิเมตร (ในขนาด 195/60/14) กลับมีหน้าสัมผัสพื้นพอๆ กับยางอีกยี่ห้อที่ระบุตัวเลขความกว้างไว้แค่ 185 มิลลิเมตร (ในขนาด 185/65/14) คือ หน้ายางสัมผัสพื้นประมาณ 160 มิลลิเมตรใกล้เคียงกัน

ดังนั้นถ้าสงสัยความกว้างของหน้ายางเส้นใด ก็สามารถใช้ตลับเมตรหรือไม่บรรทัดวัดได้เองอย่างง่ายๆ ถึงแม้จะไม่เป๊ะนัก แต่ก็ยังดีกว่าเดา เพราะตัวเลขที่ระบุไว้ ไม่ใช่ตัวเลขความกว้างของหน้ายางที่จะสัมผัสพื้น


ความกว้างของยาง วัดจากส่วนที่ป่องสุดของยาง ซึ่งหน้ายางที่สัมผัสพื้นจริงๆ จะแคบกว่าประมาณ 15-35 มิลลิเมตร

เท่าที่ทีมงานลองทดลองวัดจริง พบว่ายางรถยนต์ไม่ว่ายี่ห้อใดๆ ในรุ่นที่เน้นสมรรถนะ (ไม่เน้นความเงียบนัก) ราคาแพง แก้มเตี้ย ที่ระบุความกว้างของยางไว้เท่ากัน มักมีหน้าสัมผัสพื้นจริง มากกว่ายางขนาดเดียวกัน ซึ่งเป็นรุ่นที่เน้นความนุ่มนวล หรือราคาถูกกว่า

ยางที่ใช้งานทั่วไปมักมีความกว้างของหน้ายางที่สัมผัสพื้น น้อยกว่าตัวเลขที่ระบุไว้มาก แต่ถ้าเป็นยางประสิทธิภาพสูง มักมีหน้ายางที่สัมผัสพื้นใกล้เคียงกับตัวเลขที่ระบุไว้มากกว่า ส่วนยางรถแข่งจะวัดและแสดงผลออกมา เป็นความกว้างของหน้ายางที่สัมผัสพื้น

ความกว้างของกระทะล้อ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าสัมผัสจริงของยาง เพราะถ้าใช้กระทะล้อแคบกว่าความเหมาะสมของความกว้างของยาง ขอบยางที่ต้องแนบกับขอบกระทะล้อก็ต้องถูกบีบเข้า แก้มที่ถูกบีบเข้าจะทำให้หน้ายางด้านริมทั้งสองถูกยกขึ้น ส่งผลโดยตรงให้หน้าสัมผัสจริงแคบลงไปอีก

นอกจากนี้ยังไม่ควรรีบสรุปด้วยตัวเลขว่า ความกว้างของยางแค่ไหนจะแคบหรือกว้างไป เช่น ดูยางกว้างขนาด 185 มิลลิเมตร แล้วรีบสรุปว่าจะลื่น ต้องรีบเปลี่ยนออกหลังจากซื้อรถยนต์คันนั้นมาใช้ ทั้งที่ยังไม่ได้ทดลองขับเลย

เพราะรถยนต์แต่ละคันควรจะใช้ยางกว้างเท่าไร ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการขับด้วย ถ้าขับไม่เต็มสมรรถนะของรถยนต์ ยางกว้างขนาดมาตรฐานที่ติดมามักเพียงพออยู่แล้ว

การเพิ่มความกว้างของยางมากกว่าขนาดมาตรฐาน มีข้อดี คือ เพิ่มการเกาะถนน แต่ถ้าเพิ่มความกว้างทั้งที่ยางขนาดเดิมยังเกาะถนนเพียงพอ ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ และมีข้อเสียมากมาย เช่น ราคายางแพงขึ้น รถยนต์มีอัตราเร่งแย่ลง ช่วงล่างพังเร็วขึ้น กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น (แต่ก็มิได้แตกต่างกันมากมายนัก ถ้าเพิ่มความกว้างขึ้นไม่มาก และไม่ใช่ช่วงล่างต้องพังในทันที)


ซีรีส์ยาง วัดจากริมขอบยางถึงด้านในสุด

ซีรีส์ ต้องคำนวณก่อน
แค่ตัวเลขซีรีส์บนแก้มยาง เช่น 70, 65, 60, 55, 50 ฯลฯ ไม่สามารถสรุปได้ว่ายางที่มีตัวเลขซีรีส์น้อยต้องมีแก้มเตี้ยกว่าเสมอไป เพราะนั่นเป็นแค่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่มิลลิเมตรตรงตัว จึงต้องขึ้นอยู่กับความกว้างของยางด้วย

เช่น ยาง 60 ซีรีส์ ขนาด 205/60R14 มีแก้มสูง 205 x (60/100) = 123 มิลลิเมตร

ยาง 65 ซีรีส์ ขนาด 185/65R14 มีแก้มสูง 185 x (65/100) = 120.25 มิลลิเมตร

จากตัวอย่างพบว่า ยาง 60 ซีรีส์กลับมีแก้มสูงกว่ายาง 65 ซีรีส์

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความสูงของแก้มยางที่คำนวณออกมาได้ เป็นเพียงแก้มยางด้านนอกที่สายตามองเห็น หลังจากใส่กับกระทะล้อแล้ว ซึ่งไม่ใช่ !

ซีรีส์ คือ ความสูงของแก้มยางทั้งหมด ตั้งแต่ขอบริมหน้ายางถึงขอบในสุด ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เหลือให้เห็นเมื่อใส่กับกระทะล้อแล้ว แต่รวมขอบด้านในสุดที่แนบกับขอบกระทะล้อด้วย

เส้นรอบวง
ไม่ว่าจะเปลี่ยนยางเป็นขนาดเท่าไร ใช้กระทะล้อขนาดเท่าไร ควรรักษาเส้นรอบวงของยางเส้นใหม่ ให้ใกล้เคียงกับยางขนาดมาตรฐานให้มากที่สุด ไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยากก็ได้ ให้เอายางใส่กระทะล้อแล้วสูบลม มาเปรียบเทียบกันเลย โดยอย่าลืมเผื่อดอกยางที่สึกต่างกันด้วย

แต่ถ้าอยากคำนวณหาความสูงหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของยางก็ไม่ยาก ให้หาความสูงของแก้มยางออกมาเป็นมิลลิเมตรก่อน นำไปคูณ 2 (เพราะมีแก้มยาง 2 ข้าง) แล้วบวกกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อที่คูณด้วย 25.4 เพื่อแปลงเป็นมิลลิเมตรไว้ก่อนแล้ว เมื่อบวกกันทั้งหมดจะได้หน่วยเป็นมิลลิเมตร


เส้นผ่าศูนย์กลางของยาง วัดจากขอบในของยางด้านหนึ่งไป ยังด้านตรงข้าม ในภาพเป็นยางขนาด 14 นิ้ว

ยางขนาด 13 นิ้ว วัดจากขอบด้านในของยาง

ขนาดกระทะล้อกับเส้นรอบวงของยาง
เส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อ ไม่ได้วัดถึงริมนอกสุดของกระทะล้อ แต่วัดจากขอบกระทะส่วนที่แนบกับขอบยางด้านใน

มีคำถามแบบลอยๆ อยู่เสมอว่า ใส่ยางขอบ 16-17 นิ้ว แทนขอบ 15 นิ้วของเดิมจะติดบังโคลนไหม หรือยางจะสูงขึ้นไหม เพราะดูเผินๆ จากตัวเลข 15 16 กับ 17 เห็นตัวเลขมาก ก็เลยรีบสรุปว่ายางขอบ 17 นิ้ว ต้องเป็นวงใหญ่กว่าขอบ 15 หรือ 16 นิ้ว

การถามเช่นนั้นไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะตัวเลขที่บอกเป็นขนาดกระทะล้อสำหรับใส่ยางเส้นนั้นเท่านั้น วงนอกสุดหรือเส้นรอบวงของยาง ต้องขึ้นอยู่กับความสูงของแก้มยาง ซึ่งขึ้นอยู่กับความกว้างและซีรีส์ของยางโดยตรง

ยางขอบ 16 นิ้ว แก้มสูงๆ อาจมีความสูงโดยรวมและเส้นรอบวงมากกว่ายางแก้มเตี้ยขอบ 17 นิ้วก็เป็นได้

สัญลักษณ์ ความเร็ว(กม./ชม.)
L
M
N
P
Q
R
S
T
U
H
VR
V
W
Y
ZR
 120
130
140
150
160
170
180
190
200
210
เกินกว่า 210
240
270
300
เกินกว่า 240

ผลิตเมื่อไร ? เลี่ยงยางเก่าเก็บ
รหัสบนแก้มยางที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ หรือบางคนสนใจและพยายามจะทราบ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากบอก คือ วันที่ยางเส้นนั้นผลิต

เพราะผู้ขายหรือผู้ผลิต กลัวจะขายยางเก่าเก็บไม่ได้ แต่ผู้ผลิตก็ต้องระบุลงไป เพื่อไม่ให้ผิดกฏของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เพียงแต่ถ้าไม่ถามก็จะไม่บอก

ยางรถยนต์สามารถหมดสภาพได้ แม้เป็นยางใหม่ที่เก็บไว้เฉยๆ ก็เริ่มเสื่อมสภาพลงตั้งแต่ผลิตเสร็จ แล้วลดอายุการใช้งานลงเรื่อยๆ เมื่อเก็บไว้หลายปี

แม้การเก็บยางอย่างถูกวิธีจะชะลอการหมดอายุลงได้ และไม่หมดอายุเร็วเท่ากับการใช้งานบนถนนจริง แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยางเก่าเก็บ ซึ่งผู้ผลิตหลายรายบอกว่า 2-3 ปีก็ยังใช้ได้ แต่ในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ยิ่งใหม่เท่าไรก็ยิ่งดี

ถ้าเป็นยางนำเข้าหรือยางผลิตในประเทศ ที่มีทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก จะมีตัวเลข 3-4 หลักอยู่ในวงรี บอกสัปดาห์และเลขตัวท้ายๆ ของปี ค.ศ. ที่ผลิตยางเส้นนั้นไว้แบบลบไม่ได้ เพราะเป็นเนื้อยางที่อยู่บนแก้มยาง หล่อออกมาจากแม่พิมพ์เลย และเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ใช้ทั่วโลก

ตัวเลขนั้นอยู่ในวงรีแนวโค้งเดียวกับแก้มยาง อาจอยู่ใกล้กับตัวอักษร DOT และอาจมีเพียงข้างเดียวในยาง 1 เส้น


ตัวเลขบอกสัปดาห์และปีที่ผลิต ในยางที่ผลิตก่อนปี 2000 มีแค่ 3 หลัก จากตัวอย่าง ผลิต. สัปดาห์ที่ 28 ปี 1999

ยางที่ผลิตในปี 2000 ตัวเลขบอกสัปดาห์และปีที่ผลิต จะมี 4 หลัก จากตัวอย่าง ผลิตสัปดาห์ที่ 41 ปี 2000

ยางเส้นนี้ผลิตสัปดาห์ที่ 38 ปี 2000

ตัวเลขบอกวันผลิตยางของยางรถยนต์บางรุ่น โดยเฉพาะที่ผลิตในไทย เป็นแบบรหัสแม่พิมพ์ ต้องเปิดตารางเทียบ ซึ่งผู้ผลิตมักไม่เปิดเผย(ในภาพเดาว่า เลข 0 คือ เลขท้ายของปี 2000 แต่ก็ไม่มีการยืนยัน

ยางรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2000 จะเป็นเลข 3 หลัก เช่น 449 หรือ 328 โดยเลข 2 ตัวแรกบอกสัปดาห์ที่ผลิต และตัวเลขท้ายสุด คือ ตัวเลขสุดท้ายของปี ค.ศ. ที่ผลิต เช่น 127 ก็เป็นยางที่ผลิตสัปดาห์ที่ 12 ของปี 1997

พอมาถึงปี 2000 และตั้งแต่ปัจจุบันนี้เป็นต้นไป มีการเปลี่ยนมาเป็นเลข 4 หลัก เพื่อป้องกันความสับสนกับยางที่ผลิตก่อนปี 2000 และค้างสต็อกอยู่

ตัวอย่าง 1300, 3500, 4100 เลข 2 ตัวแรกบอกสัปดาห์ที่ผลิต และ 2 ตัวท้าย คือ เลข 2 ตัวสุดท้ายของปี ค.ศ. ที่ผลิต เช่น 3600 เป็นยางที่ผลิตสัปดาห์ที่ 36 ของปี 2000


ซ้ายเป็นหมึกปั๊มที่มีเฉพาะยางบางรุ่น ขวาเป็นตัวเลขรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของยางแต่ละเส้น และแรงดันลมยางสูงสุดที่ยางรับได้

ส่วนยางบางยี่ห้อที่ผลิตจำหน่ายเฉพาะในประเทศไทย เช่น บริดสโตนบางรุ่น ในเนื้อยางบริเวณแก้มก็มีรหัสระบุถึงวันที่ผลิต แต่ไม่เหมือนกับข้างต้น เพราะเป็นรหัสเฉพาะ เช่น L0Y3A ต้องเปิดตารางเทียบ ซึ่งผู้ผลิตไม่เปิดเผย

ในเมื่อผู้ซื้ออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลยมีการทดแทนด้วยการปั๊มหมึกสีอ่อนไว้บนแก้มยาง เป็นรูปวงกลมขนาดเล็กแบ่งครึ่งบนล่าง ครึ่งบนบอกเดือน และปี พ.ศ. เช่น 11 43 ส่วนครึ่งล่างไม่ต้องสนใจ เพราะเป็นตัวเลขรหัสประจำตัวของผู้ตรวจยางเส้นนั้น บางร้านพอยางเก่าเก็บ ก็จะลบหมึกวงกลมนี้ออก เพื่อไม่ให้ทราบวันผลิตจริง ถ้าเจออย่างนั้น ควรหลีกเลี่ยง

ถ้าเป็นยางนำเข้า หากยังไม่แกะออกจากห่อ ที่ตัวห่อหรือสติกเกอร์ที่ติดไว้ อาจมีรายละเอียดวันที่ผลิตระบุไว้ด้วย ถ้าหาที่แก้มยางไม่เจอ ให้ลองหาที่ตัวห่อก็อาจเจอ

ดอกยาง ไม่ได้มีไว้ให้เกาะ แต่มีไว้รีดน้ำ
ยังมีความเข้าใจผิดและพูดกันผิดๆ ต่อเนื่องกันในวงกว้าง ว่าดอกยางหรือยางที่มีร่องๆ เป็นลวดลาย มีไว้ให้ยางเกาะถนน หรือถ้ายางดอกหมดแล้วจะลื่น ซึ่งตามหลักการจริงนั้น ผิด !

ดัชนีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของยางแต่ละเส้น
L1 กก.
L1 กก.
L1 กก.
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
250
275
265
272
280
290
300
307
315
325
335
345
355
365
375
387
400
412
425
237
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
91
92
93
94
95
96
97
98
99
450
462
475
487
500
515
530
545
560
580
600
615
630
650
670
690
710
730
750
775
100
101
102
103
104
105
106
107
108
109
110
111
112
113
114
115
116
117
118
119
800
825
850
875
900
925
950
975
1000
1030
1060
1090
1120
1150
1180
1215
1250
1285
1320
1360

ตามความหมายของคนทั่วไป ยางที่ยังมีร่องอยู่บนหน้ายาง หมายถึง ยางมีดอก แต่ถ้าหน้ายางเรียบ ไม่มีร่องบนหน้ายาง ทั้งจากการสึกหรอหรือยางสำหรับรถแข่งทางเรียบ หมายถึง ยางดอกหมด ยางหัวโล้น ยางโล้น หรือยางไม่มีดอก

จริงๆ แล้วตัวแท่งๆ บนหน้ายาง เรียกว่า 'ดอกยาง'ส่วนช่องว่างระหว่างดอกเรียกว่า 'ร่องยาง'

ประเด็นสำคัญที่บอกว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คือ การคิดว่ายางโล้น ยางไม่มีดอก ไม่เกาะถนน เพราะการยึดเกาะของยางกับถนนเกิดจากหน้ายางที่กดแนบลงกับพื้น ยิ่งมีหน้าสัมผัสมาก ก็ยิ่งเกาะมากขึ้น ร่องยางซึ่งแทรกอยู่ระหว่างดอกยาง ก็มีแค่อากาศ ไม่ได้มีเนื้อยางกดลงบนพื้นแต่อย่างไร

ดังนั้นถ้าหน้ายางมีความกว้างเท่ากัน ยางไม่มีดอก ไม่มีร่อง หรือยางหัวโล้น ย่อมมีพื้นที่สัมผัสถนนมากกว่ายางที่มีร่องระหว่างดอกยาง

แล้วทำไมยางรถยนต์ทั่วไป จึงมีดอกหรือมีร่อง ทั้งที่ผลิตยากกว่าแบบเรียบ และต้องเสียหน้าสัมผัสกับพื้นถนนตรงช่วงที่เป็นร่องไป ?

เพราะยางหน้าเรียบเกาะถนนดีบนถนนเรียบแห้งเท่านั้น แต่ถ้าถนนเปียกจะลื่นมาก เพราะหน้ายางที่แบนกว้าง จะไม่สามารถกดรีดน้ำออกจากหน้ายาง เพื่อให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นตามปกติได้ น้ำเลยกลายเป็นชั้นฟิล์มคั่นอยู่ระหว่างยางกับผิวถนน ก็เลยลื่นหรือมีอาการเหิรน้ำ

หน้ายางที่กว้างประมาณสิบเซ็นติเมตรขึ้นไป เมื่อกดลงบนพื้นถนนที่เปียกน้ำ ย่อมไม่สามารถรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ เสมือนเอาฝ่ามือที่นิ้วมือชิดกัน กดแรงๆ ลงบนพื้นที่เปียกน้ำ

การแบ่งหน้าสัมผัสออกเป็นบล็อกเป็นดอกด้วยร่องยาง ทำให้การกดรีดน้ำออกจากหน้ายางทำได้ดีขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการรีดน้ำออกจากพื้นที่ย่อยๆ ที่แคบลง และมีร่องลึกอยู่รายรอบ เพื่อให้น้ำที่ถูกรีดแทรกตัวเข้าไปได้ และถ้าร่องต่อกันก็จะช่วยให้สลัดน้ำออกด้านข้างได้ดีขึ้นไปอีก เปรียบเทียบได้กับการกางนิ้วมือออก แล้วกดมือลงบนพื้นเปียกนั่นเอง


เมื่อพบจุดสังเกตบนริมของแก้มยาง ซึ่งมักทำเป็นรูป 3 เหลี่ยม

จุดสังเกตของยางบางรุ่นอยู่บนแก้มยาง บางรุ่นอยู่ใกล้กับดอกยางช่วงริมนอก

จุดสังเกตของยางบางรุ่นก็เป็นตัวอักษร TWI

เมื่อมองไล่เข้าไปก็จะพบสันนูนในร่องยาง

สันนูนในร่องของยางบางรุ่นก็ไม่ตรงกันเป๊ะ แล้วแต่ว่าไล่จากจุดสังเกตที่ยางด้านไหน แต่ก็มองหาจากแนวสัญลักษณ์ที่แก้มได้

ดอกหรือร่องยางจึงลดอาการลื่นของยาง เมื่อต้องขับรถยนต์ลุยฝนหรือบนถนนลื่น โดยต้องยอมเสียหน้าสัมผัสพื้นถนนบางส่วนให้เป็นร่องยางแทน

ดังนั้นการบอกลอยๆ ว่า ยางดอกหมด ยางหัวโล้น แล้วจะลื่นนั้น ผิด

เพราะที่ถูกต้อง น่าจะบอกว่า ยางดอกหมด ยางหัวโล้น จะลื่นบนถนนเปียก ส่วนบนถนนแห้งสนิทนั้น เกาะถนนดีกว่ายางมีดอก (ทั้งยางรถแข่งและรถยนต์ทั่วไป)

แล้วทำไมเมื่อดอกหมดแล้วต้องรีบเปลี่ยนยางชุดใหม่ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าฝน ?

เพราะรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไป ผู้ขับคงไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเจอถนนเปียกเมื่อไร ขับไปแล้วอาจเจอโดยไม่ได้ตั้งตัว เพราะไม่มีทีท่าว่าฝนจะตก หรือพื้นถนนเปียกจากน้ำรดต้นไม้

ถ้ายางไม่มีร่อง หรือมีแต่ไม่ลึกพอให้น้ำเข้าไปแทรกอยู่ได้ ก็จะลื่นไถลได้ง่ายมาก ส่วนรถแข่งทางเรียบนั้น ถ้าฝนตกหรือผิวสนามลื่น ก็มักรู้ตัวก่อนและค่อยๆ ประคองรถเข้าพิต เพื่อเปลี่ยนเป็นยางมีดอก แล้วออกไปแข่งต่อ

ปัจจุบันมีผู้ผลิตยางบางราย เริ่มผลิตยางรุ่นที่เน้นสำหรับการขับหรือแข่งบนทางเรียบแบบสมัครเล่น โดยออกแบบให้มีหน้าสัมผัสกับถนนมากๆ เป็นหลัก คือ มีร่อง แต่น้อยและแคบ และอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้สามารถขับบนถนนเปียกได้บ้าง ไม่ถึงกับลื่นไถล แต่ก็ไม่สามารถรีดน้ำได้ดีเท่ากับยางทั่วไปที่มีร่องรีดน้ำมากกว่า

เมื่อไรดอกยางหมด
เมื่อดอกยางจุดที่เตี้ยที่สุด มีร่องลึกน้อยกว่า 1.5-2 มิลลิเมตร ซึ่งตัวเลข 1.5-2 มิลลิเมตรนี้ รวบรวมมาจากคำแนะนำของผู้ผลิตยางหลายยี่ห้อ จึงไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขตายตัวได้เป๊ะๆ

ในความเป็นจริง ก็ไม่ค่อยมีใครหยิบไม้บรรทัดมาวัดหรือหาอะไรมาแหย่เพื่อวัดความลึกของร่องยาง เพราะไม่สะดวก และจริงๆ แล้วก็ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัด ดังนั้นส่วนใหญ่จึงดูด้วยสายตา และประเมินเอาว่าดอกยางหมดหรือยัง

ในขั้นตอนการออกแบบและผลิต ผู้ผลิตยางได้อำนวยความสะดวกในการดูว่ายางดอกหมด หรือร่องตื้นเกินกว่าที่จะใช้งานบนถนนได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวัด

โดยในร่องยางบางจุดจะนูนขึ้นจากปกติประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร แต่มิได้นูนขึ้นมาจนเท่ากับหน้ายางตอนที่ยังใหม่ๆ สมมุติตอนใหม่ๆ ร่องลึก 8 มิลลิเมตรเท่ากันตลอด ก็จะมีในบางจุดที่ร่องลึกแค่ 6-6.5 มิลลิเมตร เสมือนมีเนินเตี้ยๆ อยู่ก้นหลุม ซึ่งเมื่อดอกยางสึกมากเข้า ก็จะเรียบเท่ากับยอดเนินเตี้ยๆ ที่ก้นหลุมนั้น


จุดสังเกตของยางมิชลินเป็นรูปบีเบนดัม สัญลักษณ์ของมิชลิน

ยางบางรุ่นมีการระบุทิศทางการหมุน ควรใส่ให้ถูกต้อง

เป็นการบอกว่าดอกยางเตี้ยเกินไป หรือร่องโดยรวมตื้นเกินไปแล้ว หรือดูง่ายๆ สำหรับดอกยางที่มีลวดลายของร่องเป็นแนวตรงโดยรอบ ปกติแล้วร่องจะต่อกันตลอดแนว แต่พอดอกยางสึกลงไปจนบางส่วนเท่ากับเนินนั้น จนทำให้ร่องยางไม่ต่อกัน แสดงว่ายางเหลือร่องรีดน้ำเตี้ยเกินไปแล้ว

การหาว่าจุดไหนของร่องยาง มีเนินเตี้ยๆ อยู่กันหลุมหรือที่ฐานของร่อง ไม่ต้องเดาหรือเสียเวลานาน เพราะมีจุดสังเกตได้จากขอบของแก้มยางบริเวณใกล้ๆ กับขอบริมของหน้ายาง จะมีตัวอักษร TWI หรือสัญลักษณ์รูป 3 เหลี่ยมขนาดเล็ก ชี้เข้าหาหน้ายาง


เมื่อใช้จนยางสึกถึงสันนูนในช่องยาง ก็ควรเปลี่ยนยางชุดใหม่

โดยปกติแล้วจะมี 6 จุดในแก้มยางแต่ละด้าน แบ่งห่างเท่าๆ กัน ในมุม 60 องศาของวงกลม แต่ในยางบางยี่ห้ออาจห่างไม่เท่ากัน หรือไม่ได้มี 6 จุด แต่ก็มีหลายจุดในแต่ละด้าน ยางในบางยี่ห้ออย่างมิชลิน ก็ใช้สัญลักษณ์ตัวบีเบนดั้มขนาดเล็ก เป็นจุดสังเกตแทนรูป 3 เหลี่ยม

สัญลักษณ์เหล่านี้ ไม่ได้มีไว้บอกการสึก หรือดูว่าเมื่อไรสัญลักษณ์นี้ลบแล้วแสดงว่ายางสึกแต่อย่างไร เพราะอยู่บริเวณแก้มยางซึ่งไม่สัมผัสพื้นจึงไม่สึก (แต่ถ้าเข้าโค้งแรงๆ จนขอบของแก้มยางเอนแนบลงกับพื้นถนน สัญลักษณ์ก็อาจสึกได้)


จุดสังเกตกับสันนูนในร่องของยางบางรุ่นเก่าอาจหา ยากสักนิด แต่เจอแน่ๆ

สัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรมไทย ตามด้วยปี ค.ศ. ที่ได้รับอนุมัติ ไม่ใช่ปีที่ผลิต (ซ้าย) ระบุประเทศที่ผลิต (กลาง) และขวาสุดรหัสของโรงงานผลิตที่ผู้ใช้ทั่วไปไม่ต้องสนใจ

ซ้ายสุดระบุว่าเป็นยางที่ไม่ใช้ยางใน และตัวอักษรกลุ่มขวาระบุการรับน้ำหนักของยาง และการเติมลมยาง

เมื่อเจอสัญลักษณ์ข้างต้นที่ริมนอกของแก้มยางแล้ว ก็ให้มองในแนวเดียวกันไล่ขึ้นไปที่หน้ายาง และมองลึกลงไปที่ร่องยาง ก็จะพบกับเนินเตี้ยๆ ที่ร่องยาง เมื่อไรที่ดอกสึกไปถึงยอดเนินนั้น แสดงว่าดอกหมดหรือร่องตื้นและไม่ควรใช้ต่อ (ไม่ใช่ต้องสึกจนหมดเนินหรือหมดร่อง)

สาเหตุที่ผู้ผลิตแนะนำให้ใช้จนเหลือแค่ร่องตื้นๆ ไม่ใช่หมดร่อง ทั้งที่ดูแล้วร่องนั้นน่าจะยังพอช่วยในการรีดน้ำได้
เพราะจริงๆ แล้ว ร่องตื้นๆ นั้น มีช่องว่างให้น้ำที่ถูกรีดไล่ออกจากหน้ายางแทรกตัวอยู่ได้น้อยมาก ส่งผลให้หน้ายางไม่สามารถรีดน้ำได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องความสูงของเนินขนาดเล็กในร่องยาง ว่าแต่ละยี่ห้อสูงเท่าไร ? พบว่าในแต่ละยี่ห้ออาจไม่เท่ากัน แต่อยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกัน คือ 1.5-2 มิลลิเมตร ซึ่งผู้ใช้ก็ไม่ต้องดิ้นรนหาตัวเลขนั้นว่าเป็นเท่าไร

เอาเป็นว่าผู้ผลิตได้ทดสอบหาความเหมาะสมมาแล้วว่า ยางรุ่นนั้น ควรเหลือดอกยางสูงไม่ต่ำกว่าเท่าไรแล้วยังใช้งานได้ดี และออกแบบทำเนินให้สูงตามนั้น ผู้ใช้ก็แค่ใช้จนดอกสึกลงไปเท่ากับยอดเนินก็ควรเปลี่ยนยางชุดใหม่


ยางเส้นนี้ถูกใช้จนดอกยางสึกลง ไปเท่ากับสันนูนในร่องยาง (บน)

ยางบางรุ่นเน้นพื้นที่สัมผัสมากกว่าการรีดน้ำ จึงทำร่องยางให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยางรถยนต์ก็สามารถหมดอายุได้แม้ดอกยังไม่หมด เช่น ยางเก่าเก็บ รถยนต์ใช้งานไม่มาก จอดมากกว่าขับ ทำให้หน้ายางไม่ค่อยสึก แต่ยางก็หมดอายุได้ จากการหมดสภาพทั้งของโครงสร้างภายใน และความแข็งของเนื้อยาง เพราะโดยพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ยางทุกประเภท จะแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามความร้อนและเวลาที่ผ่านไป เนื้อยางที่แข็ง ย่อมมีแรงเสียดทานน้อยลงหรือลื่นขึ้นนั่นเอง

โดยเฉลี่ยแล้ว แม้ดอกยางยังไม่หมด ก็ไม่ควรใช้งานเกิน 3 ปี ถ้าจะใช้เกิน ควรพิจารณาความแข็ง การแตกลายงา หรือการแตกปริของเนื้อยางอย่างละเอียด

รายละเอียดอื่นๆ บนแก้มยาง
ถ้าสังเกตกันอย่างละเอียด จะพบว่ามีระบุไว้มากมายจนลายตา บางอย่างอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย เช่น
- ประเทศผู้ผลิต
- น้ำหนักบรรทุกสูงสุดเป็นหน่วยน้ำหนักเลย ไม่ต้องเปิดตารางเทียบ
- แรงดันลมสูงสุดที่ยางรับได้
- ROTATION หรือลูกศรระบุทิศทางการหมุนที่ควรใส่ให้ถูกด้าน
- รหัสแม่พิมพ์ TREAD WEAR TRACTION TEMPERATURE บอกประสิทธิภาพด้านต่างๆ แบบกว้างๆ
- ตรา 4 เหลี่ยมตะแคง มาตรฐานอุตสาหกรรมของไทย (มอก.) ซึ่งมักมีปีที่ได้รับรองระบุไว้ควบคู่ด้วย ระวังจะสับสนกับปีที่ผลิตยาง
- TUBELESS ไม่ต้องใช้ยางใน
- จำนวนชั้นของใยเหล็กหรือผ้าใบ

ความรู้หลายอย่าง ขาดคนชี้นำ บางอย่างแค่เสียเวลาอ่านอย่างละเอียด เช่น บนแก้มยาง หลายอย่างรู้กันผิดๆ ต่อเนื่องกันมา แต่ก็ยังไม่สายที่จะรู้เพิ่มหรือลบความรู้ผิดๆ ออกไป